""

Thursday, June 14, 2018

ดร. อนุสรณ์ ชี้ งบ ๖๒ จะพาชาติฉิบหาย

เป็นการจัดทำงบประมาณที่มีขนาดรายจ่ายเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เป็นงบประมาณรายจ่ายสูงถึง 3.3 ล้านล้านบาทสะท้อนบทบาทของภาครัฐที่เพิ่มสูงขึ้นทางเศรษฐกิจ มีการทำขาดดุลงบประมาณสูงถึง 4.5 แสนล้านบาท ควรลดการขาดดุลลงเนื่องจากมีความจำเป็นน้อยลงในการใช้จ่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและมีความจำเป็นในการลดความเสี่ยงของวิกฤติฐานะการคลังในอนาคต ต้องมีการบริหารการชำระหนี้สาธารณะให้ดีเพื่อไม่ให้เกิดการกระจุกตัวของการชำระหนี้ในอนาคตจนกระทบสภาพคล่องในอนาคต รายจ่ายประจำยังคงเพิ่มขึ้น 4.7% ขณะที่รายจ่ายเพื่อการลงทุนเพิ่มเพียง 1% สะท้อนยังไม่มีการปฏิรูปโครงสร้างงบประมาณแต่อย่างใดเพราะรายจ่ายเพื่อการลงทุนยังคงมีสัดส่วนเพียงแค่ 22% ซึ่งควรปรับโครงสร้างให้เพิ่มเป็น 30% ของงบประมาณรายจ่ายและต้องทำควบคู่กับการปฏิรูประบบราชการ

รัฐบาล และ สนช ต้องไปแยกแยะให้ได้ว่า โครงการต่างๆที่ปรากฎในงบประมาณโครงการไหนมีความสำคัญ มีความจำเป็นต่อประเทศชาติและประชาชน โครงการไหนเกิดขึ้นตามแรงขับเคลื่อนของกลุ่มผลประโยชน์ทั้งนอกและในระบบราชการ การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจและโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ทั้งหลายต้องประเมินให้ได้ว่าค่าใช้จ่ายเกินจริงเกินจำเป็นหรือไม่ เพราะมีหลายโครงการในอดีตประสบภาวะขาดทุนและเป็นภาระทางการคลังมาจนถึงทุกวันนี้

เราอาจลดการก่อหนี้สาธารณะเพิ่มเติม หากการจัดทำงบประมาณคำนึงถึงผลลัพธ์ (Result-based Budgeting) คือ หน่วยงานที่ใช้จ่ายเงินต้องรายงานผลลัพธ์ของการทำงานของหน่วยงาน และ การประเมินสัมฤทธิผล โดยมีตัวชี้วัด (Performance Indicator) เช่น ผลลัพธ์ของเงินงบประมาณ 100 ล้านบาทที่จ่ายออกไปที่สามารถวัดได้ทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ

มีขนาดของงบกลางที่มากขึ้นอย่างชัดเจนสูงถึง 4.68 แสนล้านบาท และงบกลางมักไม่มีรายละเอียดรายการการใช้จ่ายทำให้เงินสาธารณะ (Public Money) อาจใช้จ่ายอย่างไม่มีประสิทธิภาพ รั่วไหลได้ง่ายหรือ

ใช้ไม่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์หรือเป้าหมายได้ หากมีการใช้จ่ายงบก้อนนี้ควรชี้แจงรายละเอียดต่อประชาชนและควรผ่านการพิจารณาโดยรัฐสภาหลังการเลือกตั้งด้วย

การจัดทำงบประมาณที่ขาดการมีส่วนร่วมของผู้แทนประชาชนและประชาชนเนื่องจากสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชน มาจากการแต่งตั้งโดย คสช ทำให้ระบบการคานอำนาจและการตรวจสอบงบประมาณไม่เกิดขึ้น บทบาทในการกลั่นกรองและทักท้วงรัฐบาลในการจัดทำงบประมาณจึงขาดหายไป   

การขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนและพรรคการเมืองต่างๆที่ต้องทำหน้าที่บริหารประเทศต่อไปหลังการเลือกตั้ง ขาดการเปิดกว้าง การเปิดกว้างให้มีการถกเถียงแลกเปลี่ยนกัน จนเกิด "ฉันทามติ" ในการจัดทำงบประมาณ

ทำให้โดยภาพรวมแล้วการจัดทำงบประมาณปี 2562 ก่อนประเทศไทยกลับคืนสู่ประชาธิปไตยยังไม่ได้อยู่บนพื้นฐานของการมีส่วนร่วม (Participation) ความโปร่งใส (Transparency) ที่เน้นการตรวจสอบถ่วงดุล ความรับผิดชอบ (Accountability) ความชอบธรรมทางการเมือง (Political Legitimacy) เน้นประสิทธิภาพและประสิทธิผล (Efficiency and Effectiveness) ทั้งหมดนี้ เรียกว่า หลักธรรมาภิบาลในการจัดทำงบประมาณให้เป็นไปตามยุทธศาสตร์ประเทศและการปฏิรูป

งบประมาณยังไม่ได้เน้นย้ำ บทบาทการถ่ายโอนรายได้ (Redistribution Policy) ผ่านเครื่องมือภาษีและการจัดสรรสวัสดิการให้ผู้มีรายได้น้อยอย่างบูรณาการและเชื่อมโยงกันเพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย

การจัดสรรงบประมาณต้องเป็นไปตามความสำคัญและความเร่งด่วนของกิจกรรม เช่น รัฐบาลต้องตอบให้ได้ว่า งบประมาณของกระทรวงกลาโหมในส่วนในการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์นั้นมีความสำคัญหรือความจำเป็นเร่งด่วนอย่างไรเมื่อเทียบกับ งบประมาณในการลงทุนเพื่อการบริหารจัดการน้ำ หรือ งบประมาณเพื่อสวัสดิการรักษาพยาบาลและสวัสดิการการศึกษาของประชาชนที่ถูกปรับลดลง และรายจ่ายทางการศึกษาสามารถปรับรูปแบบให้เป็นเงินทุนสำหรับผู้เรียนไปเลือกซื้อบริการจากรัฐหรือเอกชนก็ได้ เป็นการเปลี่ยนจาก Supply-side financing เป็น Demand-side financing สำหรับการใช้จ่ายทางการศึกษา เช่นเดียวกับรายจ่ายงบประมาณทางด้านสวัสดิการสุขภาพ ภาครัฐใช้ซื้อบริการ (โดยผู้ผลิตอาจเป็นภาครัฐหรือเอกชนก็ได้) สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนและทำให้การใช้งบประมาณเกิดประสิทธิภาพสูงสุด

รัฐบาล และ สนช ต้องชี้แจงต่อสาธารณชนด้วยว่า งบประมาณกลาโหมงบความมั่นคงที่เพิ่มขึ้น  20-21% นั้นมีความจำเป็นอย่างไร ทั้งที่ภัยคุกคามทางด้านความมั่นคงลดลงและไม่มีสัญญาณใดๆที่จะเกิดสงครามในภูมิภาคนี้ กองทัพได้รับการจัดสรรงบประมาณตลอดระยะเวลาสี่ปีของรัฐบาล คสช ประมาณ 9 แสนล้านบาท ขณะที่ สังคมไทยมีความเหลื่อมล้ำและความไม่เป็นธรรมทางเศรษฐกิจในระดับสูงติดอันดับโลก แรงงานระดับล่างและเกษตรกรรายย่อยมีความยากลำบากทางเศรษฐกิจ มีสัดส่วนของหนี้สินต่อรายได้สูงมาก จึงควรจัดทำงบประมาณมุ่งเป้าหมายไปกลุ่มคนผู้มีรายได้น้อยและคนยากจนเพิ่มขึ้น ขณะที่การจัดซื้ออาวุธจากต่างประเทศไม่ก่อให้เกิดผลผลิตใดๆในระบบเศรษฐกิจและไม่ก่อให้เกิดสวัสดิการใดๆต่อประชาชน

ขณะที่งบประมาณทางด้านการศึกษาแม้นได้รับการจัดสรรสูงสุดแต่ได้รับงบประมาณลดลง 20,000 ล้านบาท ทั้งที่ประเทศมีความจำเป็นต้องลงทุนทางด้านทรัพยากรมนุษย์สูงเพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน ข้อเท็จจริงของประเทศ ก็คือ เด็กกว่า 40% ไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ เด็กไทย 1 ใน 5 ของเด็กก่อนวัยเรียน มีพัฒนาการต่ำกว่าวัย 2/3 ของครอบครัวไทยไม่สามารถมีเงินส่งลูกเรียนในระดับมหาวิทยาลัยได้ มีความไม่เสมอภาคทางการศึกษาระหว่างเมืองใหญ่กับชนบทสูงมาก ทรัพยากรมนุษย์ที่อ่อนแอย่อมไม่สามารถแบกรับภาระที่มากขึ้นของโครงสร้างสังคมผู้สูงอายุในอนาคตได้ดีนัก การปฏิรูปการศึกษาที่ล้มเหลวในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา ทำให้เกิดต้นทุนค่าเสียโอกาสทางเศรษฐกิจและสังคมไม่ต่ำกว่า 1.5 ล้านล้านบาท คิดเป็น 10-11% ของจีดีพี

ผศ. ดร. อนุสรณ์ ยังกล่าวถึง ส่วนยุทธศาสตร์ที่กำหนดไว้ในงบประมาณก็เป็นยุทธศาสตร์ที่คิดแบบราชการ ไม่ได้ผนวกเอาวิสัยทัศน์ระยะยาวเข้าไปด้วยเพื่อให้ประเทศไทยก้าวข้ามกับดักรายได้ระดับปานกลาง แต่ยุทธศาสตร์ส่วนใหญ่เป็นยุทธศาสตร์พื้นฐานเหมือนเช่นยุทธศาสตร์งบประมาณทุกปี ไม่มีอะไรใหม่ อาจไม่สามารถตอบสนองต่อพลวัตของเทคโนโลยีใหม่ที่พลิกผันระบบเศรษฐกิจ ระบบการผลิต ระบบการเงินและระบบการเมืองได้ดีนัก รวมทั้ง ยังติดกรอบคิดแบบราชการ ตนจึงมีความเห็นว่าควรจัดทำงบประมาณเชิงยุทธศาสตร์โดยกำหนดไว้ 10 ยุทธศาสตร์ดังนี้  

ยุทธศาสตร์ที่หนึ่ง ยุทธศาสตร์การปรับโครงสร้างอำนาจและส่งเสริมประชาธิปไตยให้เข้มแข็งมั่นคง

ยุทธศาสตร์ที่สอง ยุทธศาสตร์การเติบโตอย่างมีเสถียรภาพและยั่งยืนโดยเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและเอา "คุณภาพชีวิตของพลเมือง" เป็นศูนย์กลาง

ยุทธศาสตร์ที่สาม ยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคงและ Greater Thailand/New Siam ยุทธศาสตร์นี้จะสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ความมั่นคงของรัฐบาล

ยุทธศาสตร์ที่สี่ ยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันและเครือข่ายความร่วมมือ ยุทธศาสตร์ลดอำนาจการผูกขาด สร้างความเป็นประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ เพิ่มการแข่งขัน เสรีภาพในการประกอบการ

ยุทธศาสตร์ที่ห้า ยุทธศาสตร์ด้านลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเสมอภาค ความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจและสังคม

ยุทธศาสตร์ที่หก ยุทธศาสตร์พัฒนาทรัพยากรมนุษย์ทุกช่วงวัยและการปรับโครงสร้างประชากรให้เหมาะสม

ยุทธศาสตร์ที่เจ็ด ยุทธศาสตร์การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจ สังคมวัฒนธรรมและการเมือง

ยุทธศาสตร์ที่แปด ยุทธศาสตร์การปฏิรูประบบราชการ รัฐวิสาหกิจ ภาคเอกชน และ ภาคการเมือง  

ยุทธศาสตร์ที่เก้า ยุทธศาสตร์ศูนย์กลางอาหาร การท่องเที่ยว และบริการทางการแพทย์ของโลก และ ยุทธศาสตร์อุตสาหกรรมเป้าหมาย  

ยุทธศาสตร์ที่สิบ ยุทธศาสตร์บูรณาการสู่การเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของภูมิภาค

การจัดทำงบประมาณก็ต้องเน้นการกระจายอำนาจทางการคลังอย่างแท้จริง เปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถมีส่วนสำคัญในการจัดการการศึกษา ทรัพยากรของชุมชน การกระจายอำนาจทางการคลังและการจัดทำงบประมาณแบบนี้ จะนำไปสู่ การเพิ่มอำนาจประชาชนและลดอำนาจรัฐนั่นเอง ปรับเปลี่ยนการจัดสรร

งบประมาณเสียใหม่ให้ลงสู่พื้นที่และเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนในการกำหนดเป้าหมายด้านคุณภาพชีวิตเพื่อให้ทุกคนมีหลักประกันในชีวิต นอกจากนี้งบประมาณปี 2562 เป็นงบประมาณแผ่นดินในช่วงรอยต่อของระบอบรัฐบาล คสช กับ ระบอบรัฐบาลเลือกตั้ง จึงต้องมีการกำหนดให้ระบบตรวจสอบงบประมาณ และ การกำหนดตัวชี้วัดที่ทำให้เกิดการทำงานต่อเนื่องด้วย ลดปัญหางบประมาณค้างท่อแล้วมาเร่งรัดใช้จ่ายในช่วงปลายปีงบประมาณทำให้มีการใช้งบประมาณอย่างไม่มีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ปัญหาการของบประมาณมากเกินจริงของหน่วยราชการและการบริหารจัดการกองทุนนอกงบประมาณต้องบริหารจัดการให้ดี

ผศ. ดร. อนุสรณ์ กล่าวถึง ข้อเสนอในการปฏิรูประบบงบประมาณ ว่า เมื่อประเทศไทยกลับคืนสู่ประชาธิปไตยแล้ว ขอเสนอให้ ภาคประชาชน ภาควิชาการ ภาคเอกชน สามารถมีส่วนร่วมในการนำเสนอ งบประมาณของประชาชน (People Budget) ได้ โดยใช้แนวทางการจัดสรรงบประมาณแบบเพิ่มอำนาจประชาชน (People Empowerment) เสนอให้มีจัดตั้งคณะกรรมการบริหารงบประมาณที่มีตัวแทนจากภาคส่วนต่างๆ ซึ่งโครงสร้างปัจจุบันจะมีแต่ภาคราชการและภาคการเมือง และ ควรเพิ่มตัวแทนของภาคประชาชนในคณะกรรมการพิจารณางบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและระบบตรวจสอบการใช้งบประมาณ

ขอให้มีการพิจารณาปรับเปลี่ยนการจัดสรรงบประมาณแบบ Supply-side โดยงบประมาณฐานะกรม ส่วนราชการเป็นผู้รับงบประมาณ เป็น การจัดสรรแบบ Demand-side เน้นส่งงบประมาณไปที่ประชาชนโดยตรงผ่านกลไกกองทุนหมู่บ้าน หรือ โครงการ SML ที่ประชาชนมีส่วนร่วมโดยตรงในการบริหารจัดการงบประมาณ  


อ่านฉบับสมบูรณ์ที่ มติชนออนไลน์ เน้อค่ะ


No comments:

Post a Comment