""

Saturday, June 9, 2018

สู่ปีที่ห้ารัฐประหาร คสช. สิ่งที่เกิดขึ้นและหายไปในการเมืองไทย

สู่ปีที่ห้ารัฐประหาร คสช. สิ่งที่เกิดขึ้นและหายไปในการเมืองไทย

"มีเผด็จการทหารหรือผู้นำรัฐประหารไม่กี่คนเท่านั้นที่ดูจะมีขีดความสามารถทางการเมือง… [ดังนั้นจึง] ไม่มีเหตุผลที่ดีอะไรที่จะถามว่า เหตุใดบรรดานายพล พันเอก หรือพันตรีทั้งหลายจะเป็นนักการเมืองที่ดีได้"

ในวันที่ 22 พฤษภาคม 2561 ที่ผ่านมาเป็นวาระครบรอบสี่ปีของการรัฐประหารของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งเป็นระยะเวลาที่ยาวนานพอสมควรในการเมืองไทย และกำลังก้าวสู่ปีที่ห้าอย่างไม่น่าเชื่อ

เพราะว่าที่จริงแล้วแทบจะไม่มีใครคาดคิดเลยว่า คณะรัฐประหาร คสช. จะมีชีวิตอยู่ได้นานเช่นนี้

เนื่องจากรัฐบาลทหารก่อนหน้านี้มีอายุอยู่ไม่นานนัก ผู้นำทหารในอดีตเข้าสู่เวทีการเมืองด้วยภารกิจในการล้มล้างทั้งรัฐบาลเก่าและกติกาการเมืองเดิม และสร้างกติกาใหม่ด้วยการร่างรัฐธรรมนูญใหม่

พร้อมกับเตรียมการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองด้วยการเลือกตั้ง

บทประเมิน

รัฐบาลทหารในอดีตหลังจากการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในปี 2516 ตระหนักดีว่า ยิ่งอยู่ในอำนาจนาน ก็ยิ่งเป็นผลร้ายทั้งต่อรัฐบาลทหาร และต่อสถาบันกองทัพโดยตรงอีกด้วย เพราะความล้มเหลวของรัฐบาลทหารในการบริหารประเทศย่อมมีผลกระทบต่อกองทัพโดยตรงไม่มากก็น้อย

แต่จะปฏิเสธว่าไม่มีผลกระทบต่อสถาบันกองทัพเลยนั้นเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้

เพราะรัฐบาลทหารดำรงอยู่ได้ด้วยการค้ำจุนของกองทัพ และบุคลากรในรัฐบาลก็มาจากกองทัพ

จนต้องยอมรับว่ากองทัพมีสถานะเป็น "เครื่องมือหลัก" ของการยึดอำนาจและเป็น "เสาหลัก" ของรัฐบาลทหาร เพราะหากจินตนาการถึงสภาวะที่รัฐบาลทหารไม่มีกองทัพเป็นเครื่องค้ำประกันและเป็นเครื่องมือในการควบคุมทางการเมืองแล้ว ชีวิตของรัฐบาลทหารเช่นนี้คงสั้นอย่างมาก

นอกจากนี้ คงต้องยอมรับความเป็นจริงที่ว่า ด้วยความเป็นรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร ทำให้มีข้อจำกัดในตัวเองอย่างมากไม่ว่าจะมองในเวทีภายในหรือภายนอกก็ตาม

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการมีสถานะที่เป็นรัฐบาลทหารนั้น ไม่มีความชอบธรรมในตัวเองตั้งแต่แรกเริ่มของการยึดอำนาจแล้ว

ฉะนั้น ความสำเร็จในการยึดอำนาจจึงเป็นคนละประเด็นกับความชอบธรรมทางการเมืองของรัฐบาล

และแม้นว่าจะสร้างภาพรัฐบาลทหารว่าเป็น "รัฏฐาธิปัตย์" เพื่อให้เกิดความเชื่อว่าอำนาจอยู่ในมือของฝ่ายรัฐประหารเป็นอำนาจที่ชอบธรรมในตัวเอง

แต่ก็ถูกท้าทายจากฝ่ายต่างๆ อย่างมาก อีกทั้งความท้าทายอย่างสำคัญมาจากความเปลี่ยนแปลงของ "ภูมิทัศน์" ทางการเมืองทั้งภายในและภายนอก โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเป็นโลกสมัยใหม่ที่ถูกขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีการสื่อสารสมัยใหม่

ดังนั้น แม้จะโฆษณาชวนเชื่อง่ายๆ ในสังคมไทยว่า ต่างชาติ "เข้าใจดี" ถึงการยึดอำนาจในไทย ก็อาจจะไม่ชวนเชื่อเท่าใดนัก

อีกทั้งเมื่อรัฐบาลทหารไม่ประสบความสำเร็จไม่ว่าจะเป็นการสร้างสรรค์เศรษฐกิจ การขาดการยอมรับในประชาคมการเมือง การไม่บรรลุภารกิจตามที่ได้ประกาศไว้เป็นเหตุผลในการรัฐประหาร เช่น การสร้างความปรองดอง เป็นต้น เว้นแต่จะพยายามสร้างจุดขายด้วยการโฆษณาว่า การคงอยู่ของรัฐบาลทหารมีส่วนในการทำให้เกิดความสงบในสังคม

แต่ก็มีคำถามตามมาว่า ความสงบเช่นนี้คือการใช้อำนาจบังคับของกองทัพใช่หรือไม่

และถ้าใช่แล้ว ความสงบภายใต้ "อำนาจปืน" ของรัฐบาลทหารเช่นนี้จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในสังคมไทยในอนาคตได้อย่างไร

ประเด็นนี้ยังทิ้งปัญหาให้ต้องขบคิดต่อไปว่า แล้วเราจะทำอย่างไรกับความขัดแย้งที่กำลังหยั่งรากลึกมากขึ้นในสังคมไทย

และยิ่งนานวันก็ยิ่งเห็นได้ชัดเจนแล้วว่า การยึดอำนาจไม่น่าจะใช่เครื่องของการแก้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองอย่างที่บางคนคาดหวังไว้ อีกทั้งรัฐบาลทหารเองก็ไม่มีขีดความสามารถในการแก้ปัญหาเช่นนี้

และในอีกด้านหนึ่งแทนที่รัฐบาลทหารจะช่วยแก้ปัญหา ก็กลับกลายทำตัวเป็น "คู่ขัดแย้ง" เสียเองอีกด้วย สภาพดังกล่าวนี้ทำให้การเมืองไทยในช่วงสี่ปีที่ผ่านมา อยู่ในสภาพเหมือน "ติดกับ" อยู่กับที่ และไม่มีขีดความสามารถในการขับเคลื่อนประเทศไปสู่อนาคต

ผลสืบเนื่องเช่นนี้ทำให้รัฐบาลทหารประสบปัญหาความน่าเชื่อถืออย่างมากในทางการเมือง อีกทั้งเมื่อถูกถาโถมด้วยเรื่องการจัดซื้อยุทโธปกรณ์และเรื่องทรัพย์สินของผู้นำทหารแล้ว

ความน่าเชื่อถือเช่นนี้ก็ยิ่งลดลงไปกับระยะเวลาที่เหลืออยู่ของรัฐบาล และยิ่งเตรียมการที่จะอยู่ในอำนาจต่อไปในอนาคตแล้ว รัฐบาลทหารในปีปัจจุบันก็ดูจะอยู่ในสภาพที่ "ทุลักทุเล" เต็มที

แม้รัฐบาลทหารยังมีกองเชียร์ที่เข้มแข็งจากผู้สนับสนุนเดิม

แต่เสียงเชียร์ก็ดูจะลดลง แตกต่างจากปีแรกๆ หลังรัฐประหารอย่างเห็นได้ชัด ขณะเดียวกันก็ไม่มีหลักประกันว่า โอกาสของการเป็นรัฐบาลใหม่ในอนาคตจะเป็นจริงเพียงใด ทั้งที่พยายาม "เดินสาย" เข้าหากลุ่มการเมืองเก่า จนเกิดความชัดเจนถึงการกำเนิดของพรรคทหารในอนาคต

และขณะเดียวกันก็กำลังเป็นความรู้สึกว่า ผู้นำทหารกำลังเดินบนถนนสายเก่าที่พวกเขาเคยทำลายทิ้งไปแล้ว

และวิ่งกลับไปหาผู้คนแบบเดิมที่พวกเขาเคยประจานและประณามอย่างเสียๆ หายๆ มาแล้ว

บทสำรวจ

ในโอกาสของวาระครบรอบสี่ปีของรัฐบาลทหาร บทความนี้จะทดลองสำรวจผลกระทบและผลสืบเนื่องในเชิงมหภาค โดยจะนำเสนอเป็นประเด็นสำคัญๆ 5 ประการดังต่อไปนี้

1. สถานะด้านสิทธิที่ถดถอย (ดูได้จากดัชนีของ Freedom House) ซึ่งจะเห็นได้ชัดใน 4 เรื่อง คือ 1) สิทธิเสรีภาพ (civil rights) 2) สิทธิมนุษยชน 3) สิทธิทางการเมืองในรูปแบบต่างๆ เช่น การชุมนุม การรวมกลุ่ม เป็นต้น และ 4) เสรีภาพของสื่อมวลชน

2. สถานะทางการเมืองของทหารและการขยายบทบาทของกองทัพอย่างมาก ส่งผลสำคัญ 3 ประการคือ 1) การขยายบทบาทของกองทัพในทุกภาคส่วนของสังคม จนประเทศมีภาพลักษณ์เป็น "รัฐทหาร" 2) กองทัพไร้ความเป็นทหารอาชีพ (military professionalism) และกองทัพถูกใช้เป็นกลไกของรัฐบาลทหาร 3) นายทหารบางส่วนถูกแปรสภาพเป็น "ทหารการเมือง" หรือกลายเป็นสิ่งที่นักรัฐศาสตร์เรียกว่า "นักการเมืองในเครื่องแบบ" (politician in uniform)

3. สถานะทางเศรษฐกิจของประเทศหลังจากการจัดตั้งรัฐบาลทหารแล้วมีสภาพที่สำคัญ 4 ประการดังนี้ 1) รัฐบาลทหารไม่มีขีดความสามารถในการบริหารเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระดับมหภาค และมีผลสืบเนื่องต่อสภาวะทางเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม 2) รัฐประหารไม่ใช่ปัจจัยเชิงบวกในการพัฒนาเศรษฐกิจ 3) รัฐบาลทหารไม่ใช่ปัจจัยส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ และ 4) รัฐบาลทหารไม่ใช่ปัจจัยในการสร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ

4. สถานะของความเป็นรัฐบาลเผด็จการทหารทำให้ประเทศขาดคุณลักษณะทางการเมือง 5 ประการ ได้แก่ 1) นิติรัฐ 2) ธรรมาภิบาล 3) ความพร้อมในการถูกตรวจสอบ (accountability) 4) ความโปร่งใส และ 5) การตรวจสอบและถ่วงดุล

5. สถานะในเวทีระหว่างประเทศได้รับผลกระทบโดยตรงจากการรัฐประหารที่เกิดขึ้น ดังนี้ 1) การไม่ได้รับการยอมรับในประชาคมระหว่างประเทศจากการรัฐประหาร 2) การแสวงหาการยอมรับจากรัฐมหาอำนาจด้วยการปรับทิศทางของระบบพันธมิตรทางยุทธศาสตร์

และ 3) การใช้การจัดหายุทโธปกรณ์เป็นเครื่องมือในการดำเนินนโยบายต่างประเทศ

บทประมาณการ

ในช่วงปลายทางก่อนที่การเปลี่ยนผ่านทางการเมืองจะเกิดขึ้นได้จริงนั้น รัฐบาลทหารจึงต้องแสวงหาหลักประกันของชัยชนะในอนาคต ซึ่งประกอบด้วยปัจจัยสำคัญต่างๆ ดังนี้

1. สร้างกลไกรัฐธรรมนูญเพื่อความได้เปรียบทางการเมือง และออกแบบให้การเมืองไทยในอนาคตมีรูปแบบเป็น "ระบอบพันธุ์ทาง" (hybrid regime) ที่ผสมผสานระหว่างการเลือกตั้งกับบางส่วนของระบอบอำนาจนิยมเข้าด้วยกัน หรืออาจเรียกว่าเป็น "ระบอบผสม" ในการเมืองไทย

2. กำหนดกติกาและเงื่อนไขทางกฎหมายเพื่อจำกัดบทบาทและการเคลื่อนไหวของพรรคฝ่ายค้าน

3. กำหนดให้มีสมาชิกวุฒิสมาชิกแต่งตั้ง 250 คนเพื่อเป็นฐานเสียงโดยตรงในสภาในอนาคต และยังเป็นหลักประกันต่อการเลือกผู้นำทหารให้กลับมาเป็นผู้นำรัฐบาลหลังการเลือกตั้ง

4. ออกแบบยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เพื่อเป็นหลักประกันว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในอนาคตจะไม่สามารถกำหนดยุทธศาสตร์ของตัวเองได้ และต้องเดินไปตามกรอบที่รัฐบาลทหารได้ออกแบบไว้เป็นระยะเวลา 20 ปี (ห้าสมัยของรัฐบาลเลือกตั้ง)

5. ออกคำสั่งจัดบทบาทใหม่ของ กอ.รมน. เพื่อสร้างสภาวะ "รัฐซ้อนรัฐ" และใช้เป็นกลไกในการควบคุมทางการเมืองในชนบท

6. การดำรงบทบาทและอำนาจของรัฐบาลทหารในช่วงก่อนที่ระยะเปลี่ยนผ่านจะเกิดขึ้น ทำให้การเปลี่ยนผ่านในอนาคตมีความยุ่งยากในตัวเองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะจำเป็นต้องจะต้องมีฐานทางการเมืองในรูปแบบของ "พรรคทหาร" รองรับการจัดตั้งรัฐบาลหลังการเลือกตั้งในรูปแบบของระบอบพันธุ์ทาง หรือการเมืองแบบผสมที่ยังคงมีผู้นำรัฐบาลเป็นทหาร

7. การเตรียมตัวทางการเมืองของรัฐบาลทหารทำให้พวกเขาจำยอมที่จะต้องเดินไปบนถนนสายการเลือกตั้ง อันเป็นถนนสายเดิมพวกเขาทำลายไปเมื่อสี่ปีที่แล้ว และในการนี้จำเป็นต้องสร้างพรรคการเมืองด้วยการดึงกลุ่มคนบางส่วนที่พวกเขาเคยทั้งประณามและประจานแล้วเข้ามาเป็นพวก อันเป็นสัญญาณโดยตรงถึงการก่อตัวของพรรคทหาร

อย่างไรก็ตาม การเตรียมเครื่องมือในข้างต้น ทำให้เกิดผลสืบเนื่องที่สามารถคาดได้ดังนี้

1. แม้ในช่วงสี่ปีที่ผ่านมา ผู้นำรัฐบาลทหารจะประกาศเสมอว่า "ไม่สืบทอดอำนาจ" แต่การดำเนินการทางการเมืองกลับเป็นคำตอบในตัวเองอีกแบบหนึ่ง ประกอบกับคำสัญญาเรื่องการเลือกตั้งก็มักจะถูกเลื่อนออกไปโดยไม่มีความชัดเจนในตัวเอง สภาพเช่นนี้ได้ลดทอนความน่าเชื่อถือของรัฐบาลทหารลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และรัฐบาลทหารได้กลายเป็นปัจจัยของความไม่แน่นอนในตัวเองอีกด้วย

2. ผลจากปัญหา 7 ประการในข้างต้นจะทำให้การเมืองไทยในอนาคตเป็น "การเมืองของความอ่อนแอ" ด้วยการออกแบบให้ทั้งพรรคการเมืองและประชาสังคมมีความอ่อนแอ จนไม่มีพลังมากพอที่จะทานกับการกลับมาของรัฐบาลทหารในรูปแบบใหม่ด้วยกระบวนการเลือกตั้ง

3. การออกแบบเช่นนี้ยังเป็นความหวังให้ผู้นำรัฐประหารเดิมมีอำนาจและขีดความสามารถในการควบคุมทางการเมืองในสังคมไทยต่อไป หรือเป็นความต้องการที่จะทำให้ระบอบการเมืองใหม่ยังต้องพึ่งอำนาจของฝ่ายทหาร คือเป็น "ประชาธิปไตยที่ต้องได้รับการปกป้อง (จากทหาร)" หรือที่การเมืองในละตินอเมริกาเรียกว่า "Protected Democracy" อันเป็นประชาธิปไตยแบบที่ทหารยังคงมีบทบาทอยู่

4. สิ่งเป็นความคาดหวังสำคัญสำหรับผู้นำรัฐบาลทหารก็คือ ระบอบใหม่หลังจากการเลือกตั้งจะอยู่ในลักษณะที่เป็น "กึ่งเผด็จการ" (semi-authoritarianism) ด้วยการคงสิ่งที่เป็นองค์ประกอบของระบอบอำนาจนิยมไว้ต่อไป และแม้นว่าฝ่ายนิยมประชาธิปไตยชนะการเลือกตั้ง แต่องค์ประกอบเหล่านี้จะยังคงอยู่ต่อไป

จนส่งผลให้กระบวนการฟื้นคืนระบอบประชาธิปไตยมีอุปสรรคมากขึ้นในอนาคต

บทปิดท้าย

จากปัจจัยต่างๆ ในข้างต้นทำให้เห็นชัดว่า สี่ปีที่ผ่านมาประเทศไทยตกอยู่ในสภาวะ "จมปลัก" และพาตัวเองออกจากปัญหาการเมืองและความขัดแย้งที่รุมเร้าไม่ได้ และยังถูกโถมด้วยปัญหาเศรษฐกิจ

อีกทั้งความหวังเรื่องการปฏิรูปก็กลายเป็นเพียงอาการ "ฝันกลางวัน" ไปเสียแล้ว

ว่าที่จริงแล้วสภาพของการจมปลักทางการเมืองก็คือ การเป็น "คนป่วยทางการเมือง" นั่นเอง

ถ้าเช่นนั้นแล้วคำถามสำคัญก็คือ ประเทศไทยจะ "หายป่วย" ได้อย่างไร หรือยังจะก้าวสู่อนาคตด้วยความ "ทุลักทุเล" ต่อไปอีกเพียงใด

ขณะเดียวกันก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าช่วงเวลาเช่นนี้เป็นการก้าวสู่ปีที่ห้าด้วยความผันผวนและไม่แน่นอนอย่างยิ่ง

จนอาจกล่าวสรุปด้วยสำนวนเก่าง่ายๆ ว่า สี่ปีที่ผ่านมาเป็นดัง "เวลาที่หายไป" ของสังคมไทย…

"เสียของ" หรือเปล่าไม่ชัดเจน แต่ "เสียเวลา" แน่นอน เพราะไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น

สุดท้ายแล้ว สังคมการเมืองไทยจะต้องกลับสู่การเลือกตั้ง ไม่มีทางเป็นอื่น แม้ว่ากำหนดการเลือกตั้งจะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยของความไม่แน่นอนก็ตามที!

No comments:

Post a Comment